Blended Learning ระบบการเรียนรู้ในยุค 4.0
การเรียนรู้แบบผสมผสาน เป็นการผสมผสานระหว่างการเรียนการสอนในห้องเรียน กับการเรียนในระบบออนไลน์ ระบบการเรียนรู้แบบผสมผสานนี้หากทำอย่างถูกหลักการ และถูกวิธี ก็สามารถที่จะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทรงพลังให้กับผู้เรียนได้อย่างมากทีเดียว ซึ่งการเรียนรู้แบบผสมผสานต้องใช้เครื่องมือและวิธีการสอนที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ผู้สอนสามารถปรับใช้กลยุทธ์ที่เหมาะกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้แต่ละอย่างมากขึ้น
ทำไม “การเรียนรู้แบบผสมผสาน” ถึงเวิร์ค
การเรียนรู้แบบผสมผสาน – วิธีการเรียนการสอนที่ผสมผสานการสอนแบบตัวต่อตัว (face-to-face) กับวิธีการเรียนแบบออนไลน์ เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นมาตั้งแต่มีการใช้อินเทอร์เน็ตที่แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งหากว่าสนใจและสืบค้นดูในเรื่องนี้ก็จะพบว่าผลงานวิจัยเรื่องการเรียนรู้แบบผสมผสานนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยแม้แต่กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกาเองก็ได้ทำการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) เรื่องของการวิจัยการเรียนรู้ออนไลน์ มาตั้งแต่ในปีค.ศ. 2009 และพบว่า “การเรียนรู้แบบผสมผสาน” เป็นวิธีการที่ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและประสิทธิภาพของผู้เรียนได้ [1] เมื่อมีผลวิจัยมาสนับสนุนรูปแบบของการเรียนรู้แบบผสมผสาน ก็ยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษาได้จริง ทีนี้ก็มาถึงคำถามว่า ต้องมีปัจจัยใดเป็นพิเศษบ้างที่ควรนำมาใช้ สำหรับทั้งการเรียนรู้ในห้องเรียน และการเรียนแบบออนไลน์ที่จะสามารถสร้างความแตกต่างและเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากต่อผู้เรียน
การเรียนรู้แบบผสมผสาน: ต้องใช้การผสมผสานระหว่างสถานที่กับระบบออนไลน์อย่างไร ถึงได้ผล?
การเรียนรู้แบบผสมผสาน จะสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการวางยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องเหมาะสมระหว่างกลยุทธ์การสอนและวัตถุประสงค์การเรียนรู้ โดยข้อดีของวิธีการเรียนรู้แบบผสมผสานคือ มันนำเสนอเครื่องมือและวิธีการสอนที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม ทำให้ผู้สอนสามารถปรับกลวิธีให้ตรงตามความต้องการมากขึ้นได้สำหรับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละหัวข้อ ตัวอย่างเช่น ผู้เรียนที่เรียนด้วยวิธีการแบบผสมผสานอาจใช้เวลาในส่วนของการเรียนแบบออนไลน์ไปกับเนื้อหาการทำแบบทดสอบ แม้แต่พูดคุยกับผู้สอน รวมถึงเพื่อนร่วมชั้นเรียนเกี่ยวกับแนวคิดและคำถามของพวกเขา ในขณะเดียวกันเมื่อเป็นการเรียนในชั้นเรียน ช่วงเวลานี้จะถูกใช้สำหรับการฝึกทักษะ การโค้ชชิ่ง (coaching) การทำกิจกรรมการเรียนรู้ ในรูปแบบเดี่ยว คู่ หรือกลุ่ม โดยเนื้อหาสาระของการเรียนในชั้นเรียนนั้น ผู้สอนจะมีการแจ้งหรือให้หัวข้อ เนื้อหา คำอธิบายกับผู้เรียนล่วงหน้าไว้ก่อน ผ่านทาง อีเมล หรือ แอพลิเคชั่นในการสื่อสารต่างๆ ที่ได้มีการตกลงใช้ร่วมกันไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ยังใหม่กับรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน อาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและพยายามสำหรับทั้งผู้สอนและผู้เรียน ในการปรับจูนหากลยุทธ์ที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุดสำหรับทุกฝ่าย แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการผสานกำลังของผู้สอนและเทคโนโลยี เพื่อก่อให้เกิด academic synergy จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ผู้เรียนจะมีความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วม (engagement) ซึ่งจะผลักดันให้ผู้เรียนเกิดความต้องการในการค้นคว้าหาข้อมูลให้รู้ลึก และรู้จริงยิ่งขึ้นในสิ่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้สอนผ่านทางการใช้เทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ เพื่อเอาข้อมูลที่รวบรวมนั้นมานำเสนอในชั้นเรียน ซึ่งจุดนี้เองจะทำให้การเรียนรู้แบบผสมผสานนั้นบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด
ส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเอง
เป็นที่ทราบกันดีว่า หนึ่งในคำมั่นสัญญาพื้นฐานของการเรียนออนไลน์ (online learning) คือ ผู้เรียนสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ ผ่านเครื่องมือ และประสบการณ์การเรียนรู้ได้แบบออนดีมานด์ ซึ่ง “การเรียนรู้แบบผสมผสาน” ก็เช่นเดียวกัน มันได้มอบคำมั่นสัญญาว่าไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ที่ไหน ขณะนั่งรถกลับบ้าน ระหว่างรอใครสักคน หรือแม้แต่ช่วงพักสั้นๆ จากการเรียนหรือการทำงาน ผู้เรียนก็สามารถที่จะเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะใหม่ๆ ของตนเอง ต่างจากประสบการณ์การเรียนในรูปแบบออนไลน์อื่นๆ “การเรียนรู้แบบผสมผสาน” สามารถที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ โดยที่ยังยึดคุณค่าและบทบาทของผู้สอนในการเป็นผู้ให้คำแนะนำ และการให้คำปรึกษา (mentorship) เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบที่สุด
เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เรียนในชั้นเรียน
คนทั่วไปมักจะด่วนสรุปว่า การเรียนรู้ออนไลน์จะไปลดทอนความกระตือรือล้นของผู้เรียน และจะเข้ามาแทนที่การเรียนแบบ face-to-face หรือโต้ตอบแบบเห็นหน้ากันในชั้นเรียนได้ แต่…ลองพิจารณากันในความเป็นจริงก่อน การเรียนการสอนในชั้นเรียนโดยส่วนใหญ่นั้นก็มักจะเอนเอียงไปให้ความสำคัญกับผู้เรียนประเภทช่างซักถาม หรือ “กล้า” ที่จะถามหรือแสดงความคิดเห็น ที่มีจำนวนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ในขณะเดียวกันผู้เรียนส่วนใหญ่เสียอีกที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในชั้นเรียนอย่างเต็มที่นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดของชั้นเรียนอีกประการคือ กลุ่มและจำนวนคนที่มาก ทำให้ไม่สามารถที่จะโฟกัสได้เป็นรายบุคคล หรือพูดคุยโต้ตอบข้อสงสัยหรือข้อซักถามได้เป็นเวลานานๆ ในทางกลับกันวิธีการเรียนรู้แบบผสมผสานนี้จะช่วยเพิ่มประสบการณ์การมีส่วนร่วมในชั้นเรียนให้กับผู้เรียนมากขึ้น ด้วยการประสาน (synchronize) เทคโนโลยีของช่องทางการสื่อสารรวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่สามารถเป็นตัวกลางเชื่อมการสนทนาระหว่างกลุ่ม หรือระหว่างบุคคล ให้ได้มีส่วนร่วมในการสื่อสาร
โดยสรุปแล้ว แม้จะขัดใจผู้ที่ยังยึดติดกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ บ้าง แต่เราก็ต้องหยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่า “การเรียนรู้แบบผสมผสาน” นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมผู้เรียนให้มีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้นได้จริง [2]
Reference
[1] Evidence-Based Practices in Online Learning: A Meta-Analysis and Review of Online Learning Studies https://www2.ed.gov/rschstat/eval/tech/evidence-based-practices/finalreport.pdf
[2] Higher academic performance in an Asian University: replacing traditional lecturing with blended learning https://dr.ntu.edu.sg/handle/10220/46012