Lifelong Learning – อย่าให้ “อายุ” มาตีกรอบการหยุด “เรียนรู้”

       เมื่อโลกหมุนไปเทคโนโลยีก็ย่อมต้องเคลื่อนตาม ยิ่งในยุคนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวิกฤต COVID-19 ทำให้เรื่องของเทคโลโลยีเข้ามา Disrupt วิถีชีวิตของเราๆ ท่านๆ อย่างแทบไม่ทันได้ตั้งตัว ดังนั้นแล้ว ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงและหมุนไปเร็วมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้อง “ปรับตัว” ให้ทันมากขึ้นเท่านั้น

       เราเชื่อมั่นในเรื่องของการเรียนรู้ และการปรับปรุงพัฒนาทักษะของตนเองตลอดชีวิต หลายๆ คนมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “การเรียน” (Study) และ “การเรียนรู้” (Learn) แล้วสองคำนี้มันแตกต่างกันอย่างไร? เราบอกได้เลยว่าแตกต่างอย่างมากมายมหาศาล “การเรียน” คุณจะรู้และจดจำเพียงแค่เนื้อหา ซึ่งคุณอาจจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งเหล่านั้นจริงๆ ก็ได้ คุณรู้ทฤษฎี ไม่จำเป็นต้องมีทักษะ ไม่จำเป็นต้องเกิดการปฏิบัติ ไม่ต้องมีการลองผิด ลองถูก เปรียบเหมือนคุณเปิดอ่านตำราทำกับข้าว คุณรู้หมดทุกอย่างว่าต้องใส่เกลือ ใส่น้ำปลากี่ช้อนโต๊ะ แต่คุณไม่มีทางรู้ว่าผลสำเร็จของอาหารว่าจะออกมามีรสชาติอย่างไร หากไม่ได้ลงมือทำ แตกต่างจาก “การเรียนรู้” ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจ การปฏิบัติ ลองผิด ลองถูก สามารถก่อให้เกิดทักษะใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ พัฒนาเป็นความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้และแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง

      ยิ่งในตอนนี้การเข้าถึงเทคโนโลยีก็ทำได้ง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส โอกาสในการเรียนรู้มีอยู่ทั่วทุกหนแห่งบนโลกออนไลน์ ขอแค่มี “ใจ” ที่เปิดกว้าง เหมือนแก้วเปล่าที่พร้อมรับน้ำที่เทเข้ามาข้างใน ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงการเรียนรู้และเพิ่มทักษะได้ด้วยตนเองทั้งนั้น หลายๆ คนมักไม่อยากยอมรับว่าตนเอง “ไม่รู้” เพราะศักดิ์ศรีหรืออีโก้ค้ำคอ หรือไม่ก็กลัวว่าจะดูโง่หรือไม่ฉลาดในสายตาของคนอื่น แต่ความจริงนั้น “คนที่รู้ว่าตนเองไม่รู้อะไรและพร้อมจะเรียนรู้” ต่างหากคือคนที่ฉลาดและมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ และ “การเรียนรู้” ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต เพราะสิ่งต่างๆ ล้วนเป็นไปตามกฏของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงควรปรับตัว และปรับใจ เปิดรับทักษะและความรู้ใหม่ๆ ด้วยกระบวนการ Learn, Unlearn และ Relearn

       Learn คือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ แนวคิดและทฤษฎีใหม่ๆ ทำความเข้าใจนำมาประยุกต์ใช้ แก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ Unlearn คือ การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา องอาจที่จะลดอีโก้และทิฏฐิมานะของตนเอง กล้าที่จะลบทิ้งหรือละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มา หรือทฤษฎีเดิมๆ ที่เคยเชื่อและยึดถือมา มีความกระหายในการเรียนรู้ เหมือนวลีสุดคลาสสิกของสตีฟ จ็อปส์ ที่ได้กล่าวสุนทรพจน์และอวยพรนักศึกษาที่จบใหม่ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ไว้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2005 ว่า “Stay Hungry, Stay Foolish” แปลเป็นไทยได้ว่า “อยู่อย่างกระหายและเรียนรู้อยู่เสมอ” และสุดท้าย Relearn คือ การเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้มาแล้วด้วยมุมมองใหม่ๆ และตระหนักถึงคุณค่าความรู้ที่เราได้รับมา เพื่อพัฒนาและต่อยอดทักษะของเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไป การเรียนรู้ซ้ำจึงเป็นกระบวนการที่ทำให้เราสามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลาด้วยการเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างด้วยมุมมองใหม่ๆ เสมอนั่นเอง

       “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” ทุกคนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้กันมานับครั้งไม่ถ้วน ถ้าจะพูดให้ถูกจริงๆ เราว่าควรจะเป็น “ไม่มีใครแก่เกินเรียนรู้” เสียมากกว่า เราขอยกกรณีของ “ลุงติ๊ก สเกล” อดีตรปภ. แบงค์ชาติวัย 59 ปี ที่กำเงินที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นก้อนเงินสุดท้ายในชีวิตจำนวน 1,500 บาท ปัดฝุ่นความฝันและไฟศิลปินในตัว ตามคำแนะนำของลูกชายให้ทำโมเดลจิ๋วเพื่อเป็นฉากหลังถ่ายรูปให้กับโมเดลรถ ลุงติ๊กเคยเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่างมา แต่ด้วยโลกแห่งความเป็นจริงที่มนุษย์นั้นต้องใช้เงินตราเพื่อการดำรงชีวิต การยึดอาชีพเป็นศิลปินในเวลา 40 ปีที่แล้วคงจะไม่พอจุนเจือกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและครอบครัวแน่นอน ลุงติ๊กจึงใช้เหตุผลเป็นตัวตั้งในการตัดสินใจ โดยเข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 9 ปี และมาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยที่แบงค์ชาติอีก 25 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่ามีรายได้ที่มั่นคง หลังจากลาออกและรับเงินบำเหน็จ ลุงติ๊กใช้เงินบำเหน็จเกือบทั้งหมดนั้นไปกลบหนี้สิน เมื่อลูกชายแนะนำให้ลุงติ๊กทำโมเดลจิ๋ว ลุงติ๊กไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่างานของตนเองจะสามารถขายได้ ทั้งในเรื่องของกลุ่มที่ชื่นชอบงานลักษณะนี้ และฝีมือการสร้างสรรค์งานของลุงติ๊กที่ห่างหายจากการทำงานศิลปะมาเป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปี แต่ลุงติ๊กก็ลงมือทำ หลังจากงานแรกก็มีงานต่อๆ ไป

       ผลงานของลุงติ๊กมีความเป็นเอกลักษณ์ มีมุมมองที่แตกต่าง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปตึกร้าน ข้างทางริมถนน แต่มีความ “ใส่ใจในรายละเอียด” ซึ่งเป็นสิ่งที่ลุงติ๊กจะไม่ปล่อยผ่าน เช่น ถ้างานของลุงติ๊กมีส่วนประกอบของถุงขยะ ถุงขยะของลุงติ๊กจะมีน้ำขยะไหลออกมาจากถุงด้วย คนทั่วๆ ไปอาจจะมองว่ามันต้องขนาดนั้นเลยเหรอ? แต่อย่าลืมว่างานของลุงติ๊กนั้น กลุ่มเป้าหมายคือคนที่ชอบและสนใจโมเดลจิ๋ว ดังนั้นคนที่มาดูของพวกนี้จะสามารถเห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ของลุงติ๊กด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากลุงติ๊กจะทำโมเดลจิ๋วเป็นอาชีพแล้ว ลุงติ๊กยังเปิดสอนให้กับผู้ที่สนใจได้มาเรียนและสามารถยึดเป็นอาชีพในการทำมาหากินได้อีกด้วย และความฝันในวัย 61 ปีของลุงติ๊ก คือ การเปิดพิพิธภัณฑ์เป็นของตัวเอง เพื่อให้คนเข้ามาศึกษาเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงาน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ว่าคนวัย 61 ก็สามารถลุกขึ้นมาทำตามความฝันจนประสบความสำเร็จได้อย่างสง่างาม

       ทางทีมงานของเราก็ได้เคยได้มีประสบการณ์ที่น่ารักและประทับใจจากการให้คำแนะนำในการใช้งานโปรแกรม CEFR ออนไลน์ Duo Programs: Plan A ให้กับท่านศึกษานิเทศก์ท่านหนึ่ง ท่านอายุ 60 ปีเศษแล้ว แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ต้องการพัฒนาทักษะของตนเองแม้ว่าท่านจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนปีพ.ศ. 2563 นี้ก็ตาม ท่านโทรมาสอบถามถึงการใช้งาน และท่านบอกว่าท่านค่อนข้างจะโลว์เทค ทางทีมงานได้พยายามให้คำแนะนำอย่างสุดความสามารถ จนท่านเข้าใจระบบการใช้งานและสามารถใช้งานโปรแกรมได้อย่างราบรื่น สิ่งที่ทำให้ทีมงานของเราประหลาดใจและประทับใจอย่างมากคือ ท่านสามารถทำบทเรียนผ่านหลักสูตรในระดับ A1 ได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งนอกจากจะเป็นระยะเวลาที่เร็วที่สุดแล้ว ยังเป็นผู้ใช้งานโปรแกรมที่อายุมากที่สุดอีกด้วย เมื่อทีมงานของเราสอบถามถึงความรู้สึกหลังจากที่ท่านได้ใช้งานหลังจากผ่านระดับ A1 ไปแล้ว ท่านตอบว่า “รู้สึกว่าได้ฟื้นฟูภาษาอังกฤษ การใช้ใช้งานโปรแกรมแบบออนไลน์ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดไว้ตอนแรก และจะทำบทเรียนในระดับ A2 ต่อไป” ซึ่งเรารู้สึกชื่นชมกับทัศนคติด้านบวกของความไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เมื่อต้อง Work from home ก็ตระหนักถึงคุณค่าของเวลาเพื่อใช้ในการฟื้นฟูทักษะและพัฒนาตนเองของท่าน

       เราได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทความเรื่อง Lifelong Learning ใน Blog นี้ มาจากท่านศึกษานิเทศก์ท่านนี้ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวในบทความนี้ จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง เพิ่มพูนความรู้ และทักษะให้กับทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็น ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป ได้บ้างไม่มากก็น้อย

Source:

error

หากชอบ Blog ของเรา อย่าลืมบอกต่อ :)