Smart Learning จุดเปลี่ยนทางการศึกษา
กระดานดำ กับชอล์กสีขาว ที่เคยเป็นภาพจำและยึดครองห้องเรียนมานานแสนนาน ถึงคราวที่จะเกษียณตัวเอง เมื่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อน และข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายเพียงแค่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ทำให้โลกใบนี้พัฒนาและก้าวไปเร็วเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด
ซอฟท์แวร์ทางการศึกษา เริ่มเข้ามามีบทบาทกับสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงตัวนักเรียน นักศึกษา เพิ่มมากขึ้น เราจะเห็นได้ว่าสถานศึกษาในยุคปัจจุบันได้ขยายขอบเขตการใช้อุปกรณ์เครื่องมือการเรียนการสอนดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม Gen Z แกดเจ็ตยุคใหม่ เช่น Interactive Board (กระดานอัจฉริยะ), Smartphone, Tablet, PC และ Laptop กลายเป็นเครื่องมือการสอนประจำวัน ที่สามารถจะช่วยอธิบายรูปแบบและทฤษฎีที่ซับซ้อนให้เป็น Blog, VDO Clip หรือสื่อการสอน Multimedia ที่มีรูปแบบน่าสนใจอื่นๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่ายๆ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับบทเรียนวิชาต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสนใจ และเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน จากแต่ก่อนที่มีเพียงเนื้อหาและรูปภาพในบทเรียนเท่านั้น
Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft และมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลกในปี 2019 โดยการจัดอันดับของ Forbes โดยมูลนิธิ Bill & Melinda Gates ได้ทำการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ที่ช่วยเสริมการทำงานของครูผู้สอน เพื่อเป็นการเพิ่มการเรียนรู้สำหรับผู้เรียน โดยซอฟต์แวร์เหล่านี้ได้ถูกนำใช้ในสถาบันการศึกษามากกว่า 3,000 แห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“ตำราแบบดั้งเดิมเป็นวิธีเรียนรู้ที่ค่อนข้างจำกัด แม้แต่เนื้อหาที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถระบุได้ว่าผู้เรียนนั้นเข้าใจแนวคิดและคอนเซ็ปต์ของเรื่องนั้นมากแค่ไหน และแนวคิดหรือคอนเซ็ปต์ใดที่ผู้เรียนต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นให้มากขึ้น แน่นอนว่าผู้เรียนไม่สามารถจะบอกครูผู้สอนของตนเองได้ว่าเขาเข้าใจการอ่านที่ได้รับมอบหมายในคืนที่ผ่านมาได้ดีแค่ไหน”
:Bill Gates
ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่ได้รับการพัฒนา โดยใช้การตรวจจับ วิเคราะห์ ประมวลผล หาข้อผิดพลาดหรือสิ่งที่ต้องทำการปรับปรุงพัฒนา เพื่อ “กำจัดจุดอ่อน” ของผู้เรียน คือสิ่งที่จะเข้ามาเป็น “ผู้ช่วย” ที่ขยันขันแข็งให้กับ “ครูผู้สอน” ทั้งเรื่องของการลดภาระในการสื่อสารกับผู้เรียนในการสั่งงาน การตรวจการบ้าน ตลอดจนถึงการติดตามผลความก้าวหน้าและความพัฒนาของผู้เรียนแต่ละคนในแต่ละวิชาหรือแม้แต่ในแต่ละบทเรียน สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เพื่อผลักดันและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ความเบื่อหน่าย – รากเหง้าของปัญหาการหมดความสนใจในชั้นเรียน
เราได้อ่านงานวิจัยชิ้นแล้วชิ้นเล่าที่ได้รับการพิสูจน์ว่าการเรียนรู้นั้นจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อทำการสอนเป็นแบบเฉพาะบุคคล (Personalized) การศึกษาแสดงให้เห็นว่าผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายเมื่อต้องเรียนในชั้นเรียน เนื่องจากวิชาที่สอนมักเป็นเรื่องซ้ำๆ รูปแบบเดิมๆ เน้นให้ใช้การท่องจำ แต่ปราศจากความเข้าใจที่แท้จริง หรือไม่สนใจ สาเหตุนั้นมาจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนที่น้อย หรือเรียกได้ว่าแทบจะเป็นการสื่อสารด้านเดียว สิ่งเหล่านี้มักทำให้วิชาที่ได้รับการสอนนั้นมีความน่าสนใจน้อยลงมาก ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เราลองถามตัวเองว่าเราชอบหรือไม่ หากเราต้องนั่งฟังใครคนหนึ่งพูดและอธิบายให้เราฟังไม่หยุด โดยที่ตัวเราเองมีโอกาสน้อยมาก หรือไม่มีโอกาสด้วยซ้ำที่จะโต้ตอบหรือถามสิ่งที่สงสัยอะไรกลับไป เรื่องที่สงสัยไม่เข้าใจก็ค้างคาอยู่อย่างนั้น ยิ่งเจอเป็นประจำแทบทุกวัน ก็เกิดเป็นความเบื่อหน่าย สุดท้ายก็กลายเป็นความไม่สนใจไปในที่สุด เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ผลก็ย่อมที่จะตามมา คราวนี้พอจะทำการแก้ไขปัญหาจุดนี้ ก็เป็นเรื่องยากลำบากเสียแล้ว เพราะผู้เรียนสะสมพอกพูนความไม่เข้าใจมาเป็นระยะเวลาอันช้านาน
เปิดมุมมองใหม่ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี
การเรียนรู้อย่างชาญฉลาด (Smart Learning) หรือการเรียนรู้แบบปรับเปลี่ยน (Adaptive Learning) กำลังเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงห้องเรียน โดยใช้เส้นทางที่แตกต่างจากการหลับหูหลับตาท่องจำอย่างเอาเป็นเอาตายแบบเก่า เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีพลวัตร ห้องเรียนที่ใช้เทคโนโลยีแบบปรับเปลี่ยนตามผู้เรียนนั้น สามารถที่จะสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนลุกขึ้นจากที่นั่งของตนเอง ออกสำรวจโลกและความรู้มากมายที่มีให้ผ่านการเรียนรู้แบบ Interactive
สภาพแวดล้อมการเรียนรู้อัจฉริยะซึ่งได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีช่วยให้ผู้สอนสามารถนำเสนอและบริหารการเรียนการสอน รวมถึงแบ่งกลุ่มนักเรียนออกมาได้จากการวิเคราะห์ติดตามผล ด้วยระบบจัดการการเรียนรู้ หรือ LMS (Learning Management System) เพื่อที่ว่าเมื่อทำการเรียนการสอนแบบ Offline ในชั้นเรียน ผู้สอนจะสามารถ Personalized ผ่านลักษณะการแบ่งกลุ่มผู้เรียนเพื่อทำกิจกรรมของการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ได้อย่างแม่นยำ สามารถที่จะจัดลำดับการสอนที่ถูกต้องเหมาะสมกับลักษณะ และความสามารถของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม อีกทั้งแก้ไข ปรับปรุง สร้างความสนใจ และสร้างเสริมทักษะที่ยังขาดอยู่ในผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้ประสบความสำเร็จเกิดความก้าวหน้าพัฒนาขึ้นได้ เพราะมี “ผู้ช่วย” ที่คอยวิเคราะห์ ประมวลผล และรายงาน ให้ “ครูผู้สอน” ได้ทำการแก้ไขอย่างตรงจุด รวมถึงสร้างเสริมและพัฒนาทักษะที่ผู้เรียนยังขาดอยู่ โดยทำอย่างมีระบบระเบียบ วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะสร้างผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอนอย่างยั่งยืน
มาถึงตรงนี้ เราคงไม่อาจหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่า รูปแบบการเรียนการสอนทั้งในสถาบันการศึกษา และนอกสถาบันการศึกษานั้น กำลังเดินทางมาถึง “จุดเปลี่ยน” ซึ่งจุดเปลี่ยนที่ว่านั้นมาเร็วกว่าที่คาดคิด หากสถาบันการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ยังไม่ปรับเปลี่ยนมุมมอง และทัศนคติต่อเทคโนโลยีซอฟต์แวร์และอุปกรณ์การเรียนการสอนดิจิทัลว่าเป็นผู้ร้ายที่จะมาสร้างความวุ่นวายให้กับชีวิต ยึดติดอยู่กับรูปแบบการเรียนการสอนเดิมๆ ความฝันที่จะปฏิรูปการศึกษาไทยให้เป็นแบบ 4.0 ก็คงจะทำได้แค่ 0.4 เท่านั้น
เราขอหยิบยกและนำเสนอกรณีศึกษาของฟิล์ม Kodak ให้พิจารณากัน ถ้าหากองค์กรมองแนวโน้มตลาดไม่ขาด ลงทุนผิดจุด ปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านแบบก้าวกระโดดถึง 2 จุดเปลี่ยน (ครั้งที่ 1 : เปลี่ยนผ่านกล้องฟิล์มสู่กล้องดิจิทัล, ครั้งที่ 2 : เปลี่ยนผ่านจากกล้องดิจิทัลสู่สมาร์ทโฟน) Kodak แชมป์เบอร์ 1 ในตลาดฟิล์ม จากรายได้ที่เคยสูงถึงหมื่นล้านดอลล่าห์สหรัฐ กลายเป็นล้มละลาย ส่วนฟิล์ม Fuji ที่เคยเป็นอันดับ 2 ในตลาดฟิล์ม ยังโลดแล่นอยู่และพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้จนถึงปัจจุบันนี้
สำหรับท่านที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า เทคโนโลยี และสื่อดิจิทัล ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยากหากเราเปิดใจเรียนรู้ และสิ่งเหล่านี้ “ไม่ได้มาแทนที่” อาชีพหรือหน้าที่ใคร แต่เป็น “ตัวช่วย” เพื่อสร้างความสะดวกสบาย แก้ไขปัญหา จัดการสิ่งต่างๆ ให้ชีวิตง่ายขึ้น ลอง “เปิดใจ” และจะพบว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้การเรียนการสอนนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้จริงๆ